สวรรค์ 35 มม. หนังสือภาพถ่าย Once Upon a Celluloid Planet

•มิถุนายน 25, 2015 • ให้ความเห็น

Once Celluloid (Sohk-Morimart)

FilmVirus และ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ภูมิใจเสนอ

หนังสือภาพถ่ายโรงหนัง, หนังฉายกลางแปลง กิจกรรมดูหนังนอกบ้าน, จิปาถะเกี่ยวกับฟิล์ม 35 มม. เจ้าของโรงหนัง, คนดูหนัง, คนวาดป้ายโฆษณาหนัง, บิลบอร์ดตามสี่แยก, รถแห่หนัง

once_upon_a_celluloid_planet-1

พร้อมด้วยบทความจากนักเขียนซีไรต์, ศิลปินแห่งชาติ และ ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับนานาชาติ

FilmVirus และ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย

กล้อง 8 มม. ยังไม่ตายจริง ๆ ด้วย

•เมษายน 8, 2013 • ให้ความเห็น

กล้อง 8 มม. ยังไม่ตายจริง ๆ  ด้วย

อย่างนี้เรียกว่ายังไม่ตายจริง มีครบกระบวนการ ทำกล้องรุ่นใหม่ ขายกล้อง ฟิล์ม ล้าง แสกนฟิล์ม HD ส่งไปรษณีย์

http://www.pro8mm.com/blog/pro8mm-introduces-the-rhonda-cam-deluxe/

สงครามระหว่างฟิล์มกับวีดีโอ

•เมษายน 8, 2013 • ให้ความเห็น

ไม่ได้คิดว่าประเด็นมันขาวหรือดำ ถูกหรือผิดขนาดในหนังเรื่องนี้ แต่ชอบภาพขาวดำ สวยดี

“50 feet That Shook the World” by John Cannizzaro

ปิดม่าน ลาโรง ตอน ภูตเงาเฝ้าฝัน Phantoms of Sleepless Cinema

•มีนาคม 30, 2013 • ให้ความเห็น

การเดินทางบันทึกภาพโรงหนัง stand alone เกือบทั่วประเทศของ filmvirus โดยผม สนธยา ทรัพย์เย็น และ โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด ยังดำเนินต่อไป ระหว่างทางเราพบโรงหนังที่ตายไปแล้วมากมาย บางโรงยังคงสภาพต่างหน้าให้ได้ชม บางโรงตายสนิทไม่เหลือแม้แต่ซาก และจำนวนน้อยโรงมาก ๆ ที่ยังดำเนินกิจการอยู่ (หรือมีบ้างที่เปิดขึ้นมาใหม่) ซึ่งเป็นเรื่องเกือบเหลือเชื่อ แต่ก็มีจริง สรุปแล้วยังเป็นความน่าปลาบปลื้มใจยิ่งที่ได้เห็นในแทบทุกสภาพ (ตราบเท่าที่ยังเหลือเสาหรือกำแพงให้เห็น) อีกทั้งยังชื่นใจที่ได้พูดคุยกับเจ้าของโรง หรือชาวบ้านใกล้เคียงที่ได้เคยร่วมร่มไม้ชายคากับโรงเหล่านั้นในชั่วระยะหนึ่ง

ณ ขณะนี้ หนทางยังอีกไกลเกินกว่าที่จะบอกได้ว่า ภาพและข้อมูลเสียงที่เราทำการบันทึกไว้มากมายนั้นจะปรากฏสู่สาธารณะในรูปแบบใด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในรูปงานวิจัย หนังสือเล่ม หรือภาพยนตร์สารคดีล้วนยังต้องมีค่าใช้จ่ายอีกมาก ซึ่งเราในสภาพที่ไร้สปอนเซอร์สนับสนุนตงต้องต่อสู้เพื่อการนั้นต่อไป เพื่อให้บทบันทึกที่เราคิดว่ามีคุณค่านี้ได้จารึกไว้และมีคนได้ยิน

แต่ก่อนอื่น ผมขอบันทึกชื่อสองโรงหนังที่โดดเด่นเหลือเกิน ที่ท่านเจ้าของโรงได้เอื้อเฟื้อเวลาและข้อมูลให้แก่เรา ที่ใจเราเชียร์อยากจะให้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์มาก ๆ ก็คือสองโรงนี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

โรงภาพยนตร์ตะพานหินรามา จังหวัดพิจิตร ด้วยรูปทรงแปลกล้ำ และตัวอาคารขนาดยาวมหึมา ตั้งตระหง่านอยู่กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน เอ๊ย ลานโล่งกว้างที่ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์กลุ่มหนึ่งที่ช่วยเน้นไฉไลให้ตัวโรงมากขึ้น สามารถผ่านทะลุได้จากทางเข้าออกสองทิศทาง ฟังตำนานจากคุณ ฉลอง ประดิษฐ์สุวรรณ ให้รู้สึกทึ่งกับตำนานของการโปรโมทหนังในสมัยนั้น ได้เห็นภาพเก่าแก่ที่อดีตไม่มีวันหวนคืน จึงเสน่หาอาวรณ์ยิ่ง อีกทั้งอดสะท้อนใจกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ทำลายระบบโรงหนังสมัยก่อนลงไป (ในรูปถ่ายกับคุณฉลองและภรรยา)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

โรงภาพยนตร์เชียงของรามา จังหวัดเชียงราย โรงนี้เป็นโรงเก่าแก่ามาก ๆ ของแถบนี้ ด้วยรูปลักษณ์ไม่เหมือนใคร ขนาดกะทัดรัดเหมือนบ้านสองชั้น คาดว่าอายุเก่าแก่ประมาณ 70 ปี เจ้าของเดิมคือรุ่นพ่อของตระกูลหาญพิพัฒน์ คุณซวงพงศ์ แซ่ห่าน แล้วสืบทอดการดูแลมายังรุ่นพี่น้องทั้งสามที่ร่วมดูแล คือ คุณ ชัยณรงค์ หาญพิพัฒน์, คุณ กฤษณะ หาญพิพัฒน์ (ในภาพแรกคือน้องชายคนเล็ก คือคุณ ธเรศ หาญพิพัฒน์ และภรรยา คุณ พิมพ์ภา หาญพิพัฒน์) ได้ฟังเรื่องราวสนุก ๆ อย่างมหาศาลที่เกี่ยวกับตำนานสองลุ่มน้ำชายแดน กลยุทธการหาหนังและฉายหนังที่ไม่มีที่ไหนเหมือน นอกจากเมืองชายแดนเล็ก ๆ แห่งนี้ และไม่น่าเชื่อคุณ ธเรศ ยังขุดของสะสมโบราณเก่าแก่มากมายมาให้เราชม รวมทั้งแผ่นสไลด์โฆษณาโบราณ พร้อมทั้งรูปเก่าโบราณขาวดำสมัยคุณพ่อสมัยเปิดโรง (สุดยอดจริง ๆ)

(ภาพล่างคือคุณ ชัยณรงค์ และ คุณ ธเรศ)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สองโรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ทัวร์โรงหนังน่าประทับใจที่ผมได้พบมา ยังมีโรงอื่นๆ ที่มีประวัติเรื่องราวการผจญภัยไม่คาดฝันที่เราได้พบปะรายทาง อยากจะมาถ่ายทอดและบอกเล่าอีก แต่ขณะนี้ขอจบไว้ก่อน หากมีทุนรอนพอเมื่อใด อาจจะได้จัดพิมพ์รูปสวย ๆ เป็นรูปเล่มงาม ๆ หรือทำหนังสารคดีสนุก ๆ สักเรื่อง สำหรับตอนนี้ก็ต้องฝันเฟื่องไปก่อน ตราบเท่าที่บ้านเมืองไทยยังมองไม่เห็นคุณค่าหรือมีกองทุนสนับสนุนหนังโครงการแบบนี้ แต่ที่สำคัญกว่า ควรมีใครที่มีกำลังพอจะสนับสนุนโรงหนังเก่าเหล่านี้ คืนชีวิตให้มัน ถ้าไม่ใช่เพื่อความรักต่อภาพยนตร์​ Cinema Paradiso อย่างน้อยก็ให้หันมองคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรม เพราะทุกแห่งนับเป็นสถานที่มีค่ายิ่งของเมืองที่ควรอนุรักษ์ไว้ อาจเก็บเป็นห้องประชุม ศาลากลาง พิพิธภัณฑ์ หรืออะไรก็ตามที หรืออย่างน้อย ถ้าเห็นแก่หน้าตาและปัญญาของลูกหลานบ้างก็คงไม่เลว

bookvirus 09 เพลงรัตติกาลในอินเดีย อันตอนีโอ ตาบุคคี Notturno Indiano by Antonio Tabucchi

•มีนาคม 30, 2013 • ให้ความเห็น

255262_10150944933006975_1793538727_n

เพลงรัตติกาลในอินเดีย อันตอนีโอ ตาบุคคี
Notturno Indiano by Antonio Tabucchi

แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
คำนิยมโดย อุทิศ เหมะมูล
bookvirus จัดพิมพ์

Jorge Luis Borges หอสมุดบาเบล และเรื่องสั้นอื่น ๆ – bookvirus ฟุ้ง 08

•สิงหาคม 30, 2011 • ให้ความเห็น

อ่านเอกภพ ท่องวงกต

ถ้าไม่มีนักเขียนอย่าง ฆอรเฆ ลูอิส บอร์เฆส คงไม่มี Post-Modern

Jorge Luis Borges เปรียบได้ดั่งรากเหง้าอิทธิพลงานเขียนของ Italo Calvino, Umberto Eco, Orhan Pamuk, Julio Cortazar, Alain Robbe-Grillet และคนสำคัญอีกหลาย ๆ คน

รออ่านงานแปลหนังสือเขาได้ที่ bookvirus ฟุ้ง 08 หรือ

The library of Babel, the garden of forking paths and the other stories
หอสมุดบาเบล สวนแห่งทางแพร่ง และเรื่องสั้นอื่นๆ

Jorge Luis Borges
สิงห์ สุวรรณกิจ แปล

คำนิยมโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

หอสมุดบาเบล สวนแห่งทางแพร่ง และเรื่องสั้นอื่นๆ – bookvirus ฟุ้ง 08 รวมเรื่องที่ยังไม่เคยแปลซึ่งเป็นแนวคิดเชิงเขาวงกตวรรณกรรมตามแบบฉบับที่นักอ่านทั่วโลกคุ้นเคย – ไม่ใช่เรื่องที่ แดนอรัญ แสงทอง (aka เชน จรัสเวียง) เคยแปลลงใน bookvirus 2 และ เพชฌฆาตข้างถนน

ระหว่างนี้อ่านแปลบทสัมภาษณ์ของ บอรเฆส ไปก่อนใน bookvirus เล่ม 2

คาดว่าน่าจะออกทันงานหนังสือตุลาคม 2554

domino film experiment – ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ 4 สหาย

•พฤษภาคม 3, 2011 • ให้ความเห็น

domino film experiment * ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ 4 สหาย

ปฏิบัติการระดมทุนทำหนังฉีกตำราวรรณกรรมราคา 5 แสนบาท ขอเชิญสมทบทุนได้ที่ (โปรดอ่านรายละเอียดในบล็อก)

http://dominofilm.blogspot.com/

ส่วนอันหลังนี้ เป็นวีดีโอแนะนำหนัง ยังไม่ใช่ตัวอย่างหนังจริง เพราะหนังกำลังรอทุนสร้างยังไม่ได้เริ่มถ่าย ตัวอย่างนี้จึงแค่เอาไว้อ้างอิงถึงบางสิ่งที่จะมีในหนังเท่านั้น

เพราะเธอคือ “ที่รัก” (Eternity) จากนิตยสาร Filmax พฤศจิกายน 2553

•กุมภาพันธ์ 3, 2011 • ให้ความเห็น

เพราะเธอคือ “ที่รัก” (Eternity)
หนังไทยร่างเล็กใจจริง

โดย สนธยา ทรัพย์เย็น

ถึงที่สุดแล้ว ความสุขของคนดูหนังแต่ละคน คงไม่ได้อยู่แค่ความชื่นชมในการได้ดูหนังดี หนังคลาสสิก เพราะเอาเข้าจริง หนังที่มีคุณค่ากับชีวิตของตัวเรา ก็คงเป็นหนังเรื่องไหนก็ได้ที่สามารถมอบความรู้สึก หรือความหมายดีดีให้ตัวเราเองต่างหาก
กับหนังบางเรื่องเราต้องลงแรงตีท้ายครัว แต่กับหนังแห่งหัวใจ มันซึมซาบเข้ามาหลังม่านโดยไม่ฝืนฝืด และนี่คืออีกครั้งที่ทำให้ผมต้องกลืนน้ำลายตัวเอง กลับมาเขียนบทความเชียร์หนังชาวบ้านอีกครั้ง ทั้งที่ทำสัญญาใจไว้ว่าจะไม่โปรโมทหรือเชียร์หนังใครหน้าไหนอีก
หนังเรื่อง “ที่รัก” หรือ “Eternity” เป็นหนังใหญ่เรื่องแรกของ ศิวโรจณ์ คงสกุล เจ้าของงานหนังสั้นงามสมถะอย่าง “เสียงเงียบ” ซึ่งหลังจากปลุกปั้นโครงการนี้อยู่ราวสองปี “ที่รัก” ก็ผ่านพ้นกระบวนการตัดต่อพร้อมจะเข้าประกวดที่เทศกาลหนังปูซาน ประเทศเกาหลีในช่วงต้นเดือนตุลาคม และเตรียมจ่อคิวโชว์ตัวต่อที่เทศกาลหนังรอตเตอร์ดาม เนเธอร์แลนด์ ช่วงมกราคมปีหน้า ส่วนคนไทยก็จะได้พิสูจน์สายตาในฐานะภาพยนตร์เปิดงานที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม ห้างพารากอนในเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน จากนั้นจะเข้าโรงปกติหรือเปล่า ต้องเงี่ยหูฟังกำหนดฉายไว้ให้ดี เพราะก็อปปี๊ฟิล์มนั้นย่อมมีเพียงหนึ่งเดียวม้วนโดด ไม่อาจแห่มโหรี ระเห็ดไปฉายที่โน่นที่นี่ ซึ่งพิสูจน์อีกครั้งว่าพื้นที่ทางเลือกของคนดูยังไม่มีสิทธิ์เสียงมากนัก

ระบำฟิล์มริมน้ำกลางไอระอุ
“ที่รัก” เป็นหนังไทยอีกเรื่องที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน Hubert Bals Fund แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นชัยชนะต่อเนื่องของผู้อำนวยการสร้าง- โสฬส สุขุม ที่ได้รับทุนนี้ 4 ปีซ้อน นับจาก Wonderful Town, “เจ้านกกระจอก” และ Hi-So ซึ่งการสนับสนุนของ Hubert Bals นี้ เคยปั้นให้ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้ถือกำเนิดในโลกภาพยนตร์มาก่อนในปี 2000 ด้วยผลงาน “ดอกฟ้าในมือมาร” หรือ Mysterious Object at Noon แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าหนังของ ศิวโรจณ์ จะแอ็คอาร์ตเล่นท่าโลดโผนแต่อย่างใด แท้จริงกลับหนึ่งนิดชิดใกล้ ง่ายงามโดยมิได้เอี่ยวกับปริมาตรทางสติปัญญาเช่นที่หนังศิลปะมักโดนครหา
ต้นเค้าของ “ที่รัก” มาจากชีวิตจริงของพ่อแม่ผู้กำกับตั้งแต่สมัยแรกรู้จัก เกิดเป็นความรักระหว่างหนุ่มลพบุรีและสาวเมืองกรุง และแม้ว่าพ่อของ ศิวโรจณ์ จะเสียไปนานแล้ว แต่แม่ของเขาก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง โดยเขียนโครงย่อ 4 หน้า ให้ลูกชายนำไปเสริมต่อ เป็นภาพแห่งความทรงจำ และการอยากจำที่ไม่ได้ยึดความจริงเป็นศิลากองที่สั่นคลอนไม่ได้ เพราะตัวหนังก็ไม่ได้พยายามจำลองเหตุเกิดในอดีตให้เป็นฉากย้อนยุค
บังเอิญช่วงที่กองถ่ายมาปักหลักอยู่ลพบุรีผมกำลังหริ่งเรไรอยู่ที่นั่นพอดี จึงมีโอกาสเกะกะกับคณะกองถ่ายนี้อยู่หลายวัน บรรยากาศของกองถ่ายหนังทีม Pop Pictures นี้น่ารักมาก ทุกคนช่วยลงแรงคนละไม้คนละมือเหมือนเพื่อนสนิท เพราะทั้ง ศิวโรจน์ และสองผู้ร่วมอำนวยการสร้าง – โสฬส สุขุม, อาทิตย์ อัสสรัตน์ ต่างช่วยเหลือกันมานานตั้งแต่สมัยหนังไทยอิสระยุคบุกเบิก ทีมงานมากฝีมือที่ประกอบด้วยเด็กฝึกงาน และนักแสดงหน้าใหม่ ร่วมกันตากแดดจ้าทำหนังที่เรียบง่ายใกล้ตัวปุถุชนธรรมดา ไม่ต้องมีฉากอลังการ สาระล้นกระป๋อง หรือต้องพึ่งพาทีมงานแออัดหรือรถไฟจัดแสงคันยักษ์ ทำให้นึกถึงตอนนอนขลุกมุ้งเดียวกัน 4- 5 คนในกองถ่าย “ดอกฟ้าในมือมาร” ประสบการณ์ทำหนังที่ไม่ใช่จบแค่ค่าแรงและหน้าที่ อย่างนี้จะหาที่ไหนได้บ่อย ถ้าไม่ใช่จากพลังของคนหน้าใหม่ไฟแรงล้น แม้อากาศเดือนมีนา-เมษาจะร้อนสุดทน แต่ทุกคนก็ใจสู้ ช่วยเหลือกันต้อนฝูงเป็ด ถ่ายทำฉากพายเรือในแม่น้ำจนแสงแดดหยดสุดท้ายลาลับอาทิตย์ ก่อนที่แต่ละคนจะช่วยกันแบกเรือกองถ่ายข้ามถนนไปเก็บอีกฝั่ง และเมื่อเสร็จจากอาหารค่ำ ก็มาชุมนุมตัวดูฟุตเตจที่ถ่ายมาในแต่ละวันอย่างกระตือรือร้น แสดงความคิดเห็นและเสนอไอเดียในการแก้ไขงานในวันต่อไป
อากาศร้อนอาจทำให้บางคนเพ้อได้ง่าย ๆ แต่ฟุตเตจภาพแต่ละภาพที่เขาถ่ายกันในแต่ละวันมันอาจชวนเพ้อไปยิ่งกว่า บางเฟรมงดงามไม่แพ้หนังคาวบอยคลาสสิก The Searchers ของ จอห์น ฟอร์ด เรียกได้ว่ามองแทบไม่ออกเลยว่าถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล Red Camera
โลกแห่งลำน้ำและชีวิตบ้านนาที่กระจุ๋มกระจิ๋มเพลินตายิ่งกว่า ขวัญ เรียม, เพื่อนแพง หรือหนังไทยเรื่องใด ๆ งานกล้องของ มรว. อัมพรพล ยุคล ที่นิ่งสงบและสุกสกาวจนชวนให้เข้าไปสิงสู่ในนั้นตลอดไป (นอกจากการเป็นผู้กำกับภาพแล้วเรื่องนี้เขายังควบตำแหน่งร่วมอำนวยการสร้างด้วย) อีกทั้ง มุมภาพ ลำแสง และมูฟเมนต์ของคนแสดงก็ชื่นตาเอมใจเป็นล้น ไม่แพ้ผลงานเรื่องก่อนของทีมนี้ (Wonderful Town) และเมื่อยิ่งสำทับความนัยด้วยเพลงเก่า “ที่รัก” ของ ชรินทร์ นันทนาคร ที่ วัลลภ รุ่งกำจัด – นักแสดงนำได้นำมาขับร้องใหม่อย่างใสซื่อด้วยเสียงจริง มนต์เพลงแห่งท้องทุ่งก็ยิ่งเรืองรองก้องไป
วัลลภ (ทั้งแสดงนำกับควบตำแหน่งอาร์ตไดเร็คเตอร์) และ น้ำฝน อุดมเลิศลักษณ์ รับบทพ่อแม่ในวัยหนุ่มสาวของผู้กำกับ รวมทั้ง ประภาส อำนวย – นักแสดงที่รับบทพ่อในช่วงสูงวัย ซึ่งเป็นพ่อของน้องน้ำหวาน – ชิดปราง อำนวย ที่ทำงานดูแลนักแสดงในกองถ่าย รวมทั้งทีมงานทุกคนที่ทุ่มเทกับงานเต็มร้อย ช่วยกันเนรมิตตกแต่งของที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติและของใหม่ให้ผสมกลมกลืนกันอย่างดี พ่วงด้วยแม่ครัวจากร้านอาหารหน้าโรงแรม และชาวบ้านในละแวกบางลี่ ย่านท่าวุ้งที่ถูกชักชวนมาเผยหน้าแช่มเป็นดารานักแสดงรับเชิญ
แม้จะยังไม่ได้ดูหนังฉบับที่ตัดต่อเสร็จแล้วด้วยซ้ำ แต่ผมก็มั่นใจว่านี่คือตัวอย่างของหนังไทยรุ่นใหม่ที่ถอดหัวใจทำ มีความง่ายงามในธรรมชาติของตนเองอย่างที่หาได้ยากในชีวิตละเลยรีบเร่งทุกวันนี้ หวังใจว่าหน่อเนื้อหนังไทยที่น่าจับตาเรื่องนี้ จะมีโอกาสฉายกว้างขวางให้คนไทยทุกท้องถิ่นได้ประจักษ์ตา และรสชาติแตกต่างหลากหลายเป็นที่ตระหนักรู้ เพราะใช่ว่าหนังนอกกระแสทุกเรื่องจะต้องสวมหน้าเครียดขึ้ง มึนตึ้บหรือดูแล้ว feel bad เสมอไป ก็เมื่อฉากสุดท้ายในชีวิตของทุกคนมาถึง หนังที่จิตเราเรียกหา หรืออยากให้เป็นแวววรรณในงานอำลา คงไม่ใช่จิตอาฆาต แต่เป็นจิตอาสาแห่งปรารถนาบวก

ติดตามข่าวคราวล่าสุดของหนัง “ที่รัก” ได้ที่ เว็บไซต์ของ บริษัท ป็อปพิคเจอร์ส http://www.pop-pictures-ltd.com หรืออ่านสัมภาษณ์ ศิวโรจณ์ และเพื่อน ๆ นักทำหนังชาวไทยในแวดวงอินดี้ ได้ในหนังสือของ filmvirus “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” (สนพ. โอเพ่นบุ๊คส์)

คุยเอกเขนกเรื่องลพบุรีที่โรงแรมรามาดา ในบ่ายของวันที่ 22 เมษายน 2553

สนธยา – กานต์ (ศิวโรจณ์) ถ่ายหนังเกือบจะปิดกล้องแล้ว ตกลงสิ่งที่คาดหวังก่อนและหลังถ่ายกับ
ตอนนี้มันออกมาใกล้เคียงกับที่คาดหวังไหม
ศิวโรจณ์ – ดีกว่าที่คิดครับ หมายถึงมันมีสิ่งใหม่นอกเหนือจากบทด้วย หลายๆ อย่างก็ได้มา
จากการลงมาขลุกอยู่ที่นี่ ช่วงที่เตรียมงานอะไรอย่างนี้ ตอนที่เขียนบทเป็นมัน
แค่เหมือนนำทางเข้ามา เอาภาพจากในหัวแล้วก็จากแม่อะไรอย่างนี้มาร้อยๆ ด้วย
ทำหนังเรื่องแรกก็ยังไม่รู้อะไรคือหนังยาวจริงๆ เพราะทำแต่หนังสั้นมา ในส่วน
ของผม ผมไม่ได้มองมันเป็นเปอร์เซ็นต์หรือตั้งเป้านะ แต่ถ้าส่วนของพี่ทองดี
(โสฬส –ผู้อำนวยการสร้าง) เขาก็คงมีรูปแบบที่ต้องทำ แต่ของผมไม่ได้คิดคือได้ทำก็
ดีแล้ว พอเกิดเป็นภาพได้ โอ๊ย…ดีใจแล้วครับ
สนธยา – ตามที่พี่เข้าใจหนังไม่ได้ดำเนินตามเรื่องจริงเสียทีเดียวใช่ไหม
ศิวโรจณ์ – อืมม์… เรื่องจริงเป็นแกนไว้ครับ แต่ว่าอะไรที่พอจะปรับใช้กับสถานที่หรืออะไร
ได้ก็จะพยายามใช้ มันก็จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีวิญญาณของพ่ออะไรพวกนี้
เพิ่มเข้ามา ซึ่งก็เป็นโลกใบใหม่ เราก็ไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรก็เอามา
ผสมผสานเข้าไป
สนธยา – จริงๆ โลเคชั่นมันจำเป็นต้องเป็นลพบุรีไหม สามารถถ่ายจังหวัดอื่นได้ไหม
ศิวโรจณ์ – อันนั้นผมมองเป็นความรู้สึกของผมเองครับ คืออยากทำที่บ้านเกิดของพ่อจริงๆ
ถึงแม้ว่ามันจะเปลี่ยนยุคไปแล้ว หรือบางอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ผมก็ยังอยากทำที่นี่ครับ
ฟิล์มไวรัส – อย่างที่เรารู้กันว่าหนังแบบนี้เราจะฉายในลพบุรีก็เป็นเรื่องยากใช่ไหม ตัวกานต์
เองหวังและคิดว่าจะเราฉายให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คนลพบุรี หรือคนท่าวุ้งได้ดูกัน
ยังไง
กานต์ – คือถ้ามองแบบง่าย ๆ ใกล้ตัวเองก่อนก็คงควักเงินตัวเองแล้วฉายเป็นหนัง
กลางแปลงที่วัดบางลี่ แถวๆ บ้านย่า แล้วเขาก็คงเรียก ๆ บอก ๆ โกย ๆ คนให้มาดู
กัน รับคนที่มาช่วยเล่นช่วยอะไรเข้าไปดูๆ กันอะไรแบบนี้ คิดว่าคงอยากทำอย่าง
นั้นสักวันหนึ่ง
ฟิล์มไวรัส – เมื่อก่อนช่วงปิดเทอม กานต์เคยมาอยู่ที่นี่ใช่ไหม
กานต์ – ครับ ส่วนใหญ่พอปิดเทอมพ่อก็จะให้กลับมาอยู่กับย่า
ฟิล์มไวรัส – ถ้านับในขณะนี้ความสัมพันธ์กับลพบุรีของกานต์ผูกพันธ์มากน้อยแค่ไหน
กานต์ – ไม่ถือว่าใกล้นะครับ ผมกับน้อง เหมือนผมทำแทนพ่อได้นิดหน่อย ตัวผมถือว่า
ไกลในระดับหนึ่ง จริงๆ จุดเริ่มต้นจากพ่อตายนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าพอพ่อตายไป
แล้วญาติที่ได้เจอในเชิงความสัมพันธ์ก็จะเป็นฝั่งแม่มากกว่า คือแม่เป็นคนปทุมธานีเป็นคน
กรุงเทพ ญาติ ๆ อยู่ทางกรุงเทพ ส่วนญาติจากลพบุรีก็จะเจอน้อยลง แต่ถ้ามีพ่อก็จะได้
กลับบ้านมาเรื่อย ๆ
ฟิล์มไวรัส – ถ้าเลือกได้ กานต์จะเลือกใช้ชีวิตที่ไหน
กานต์ – หมายถึงในอนาคตเหรอพี่ คือการทำหนังนี่แหละทำให้ได้เริ่มกลับมาบอกว่า เฮ้ย ! ที่นี่ก็ยังมี
อะไรก็รู้สึกดีนะครับ คือก่อนมาถ่ายหนังก็มาอยู่ช่วงหนึ่ง ก็สบายๆ ดี เป็นเมืองที่ดีไม่วุ่นวาย
นะครับ ไปๆ มาๆ ด้วยความสัมพันธ์ของครอบครัวของต้นตระกูลเรามันก็กลับทำให้เรารู้สึก
ว่า เฮ้ย ! เราก็มีครอบครัวใหญ่เหมือนกัน พอได้ลงตามพื้นที่ จากที่เราห่างๆ ไป แค่ว่าปู่เป็น
ใคร ย่าเป็นใคร ลูกของใคร พอเท้าความไปก็เปลี่ยนจากชาวบ้านทั่วไปเป็นญาติเราเฉยเลย
ฟิล์มไวรัส – อ้อ… ช่วงถ่ายหนังนี้ทำให้เราได้ค้นพบอีกสายกิ่งก้านหนึ่ง

กานต์ – อะไรประมาณนั้นครับ แล้วก็จะเพิ่ม ๆ (มาในเรื่อง) ก็ญาติกันทั้งนั้นแหละที่จะได้ยิน จาก
เสียงจริง ๆ ที่เรามองก็เป็นชาวบ้าน พอลงไปคลุกจริง พระอะไรโน่นนี่ตามวัดก็รู้จักกับที่บ้าน
ย่า
ฟิล์มไวรัส – ช่วงที่ถ่ายอะไรที่กานต์ประทับใจและติดตามมากที่สุด ทั้งจากทีมงานด้วยกันเอง หรือ
ชาวบ้านที่มาทำงานเป็นครั้งแรก
กานต์ – คืออันดับแรก คงเริ่มจากข้างในหนัง คือว่าพอได้เกิดขึ้นจริงเป็นภาพ ผมก็รู้สึกดีกับทุกๆ
ช็อตเลยด้วยซ้ำ เพราะมันได้เกิดขึ้นจริง ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่แรกก็ที่คุยกับใครทุกครั้งว่าถ้า
มีโอกาสได้ทำหนังเรื่องแรก ผมพูดได้คำเดียวตลอดว่าผมจะทำเรื่องนี้ คุยกับพี่ทองดี ใคร
ถามก็ตามครับ ถ้าได้ทำหนังเรื่องยาว ผมอยากทำเรื่องนี้ พอมันเกิดขึ้นได้จริงก็รู้สึกดีไป
หมดครับ พูดอย่างนั้นได้เลย
ฟิล์มไวรัส – คือชาวบ้านทั่วไปเขาจะมีมุมมองหนังอยู่แบบหนึ่ง คิดว่าจากการที่เขาปะทะของจริงของ
กานต์เรื่องนี้ จากกองถ่ายซึ่งจะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง มีอะไรที่สะท้อนให้เรารู้สึกบ้างไหม
กานต์ – คือเราทำมันแบบจริงใจ กับพื้นที่ กับอะไรแบบจริง ๆ มันก็ไม่มีใครไปคิดหรอกว่ามันช้าหรือ
ว่า long take คือในสายตาของชาวบ้านเขาไม่รู้หรอก มันเป็นเทคนิคหรืออะไร เราก็ให้เขา
ใช้ภาษาของเขา เราก็ snap เราก็บันทึกของเขาประมาณหนึ่ง ผมมองว่าเป็นการแชร์ร่วมกัน
ณ ขณะนั้นผมไม่มองหรอกว่าเป็นภาพยนตร์ศิลปะ หรือเป็นภาพยนตร์ทดลอง มันเป็น
เรื่องๆ หนึ่งของคนธรรมดาๆ ผมกลับมองมันแบบนั้นเลย ป้าอุไรที่ขายข้าวที่อยู่หน้าโรงแรม
คุยแล้วรู้สึกดีด้วยกับแก แกเล่าอะไร ก็ไปร่วมกันได้บางอย่าง แล้วเท่าที่คุยกับแกแกก็มี
ความสุขด้วยซ้ำ ก็แปลกๆ ดี เขาเป็นแม่ค้า อยู่ๆ มาเล่นหนัง สมมุติว่าถ้ามองแบบนั้นแกก็
เป็นดาราไปแล้ว แล้วแกก็บอกว่าสนุกดีก็มีความสุขประมาณหนึ่งครับ ทีมงานน่ารัก วิธี
ทำหรืออะไร เราก็ไม่ได้มองว่าแกจะต้องเป็นเฟืองของเราที่เราจะผลิตอะไรสักอย่างใน
ขณะนั้นครับ
ฟิล์มไวรัส – เวลาเอ่ยว่าลพบุรี ความคิดของกานต์จะนึกถึงอะไรก่อน หรือมีความหมายพิเศษอะไร
กานต์ – บ้านของพ่อ ผมรู้สึกแค่นั้นครับ บางอย่างผมไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์อะไรของเขา
แต่มีภาพบางอย่างเหมือนกันที่เราเคยมาอยู่ อยู่ในบ้านของย่า พ่อเราเคยเกิดที่นี่
พาเรากลับมา ขับรถอย่างไงมา พาไปไหนบ้าง เล่าอะไรให้เราฟัง เขาตายไป เรา
มีโอกาสได้ทำอะไรกลับคืนบ้าง มีอยู่แค่นี้แหละครับ
ฟิล์มไวรัส – นี่แสดงว่า กานต์สนิทกับพ่อใช่ไหม
กานต์ – ครับ
ฟิล์มไวรัส – มีพี่น้องกี่คนนะ
กานต์ – 2 คน ผมกับน้องสาวครับ
ฟิล์มไวรัส – มีอะไรที่ผูกพันกับลพบุรีเป็นพิเศษ
กานต์ – มันเป็นภาพๆ ของคลังเก่านะครับ พอโตมาก็มีบางอย่างที่ตกหล่นบ้างโน่นนี่ ผม
รู้สึกอย่างนั้นนะครับ จำๆ ได้บ้างบางอย่าง คล้ายๆ ความสนใจผมเองนะครับ
แม้กระทั่งสถานการณ์การเมืองเองปัจจุบัน ส่วนใหญ่วิธีคิดผมจะเชื่อว่าทำจากจุด
เล็กๆ ที่บ้านตัวเอง จากจุดเล็กๆ จากตัวเอง
ฟิล์มไวรัส – ในหนังไม่มีฉากที่พ่อกับแม่มาเจอกันครั้งแรกใช่ไหม
กานต์ – ไม่มีครับ
ฟิล์มไวรัส – สามารถจะเล่าให้ฟังได้ไหม หรืออันนี้ต้องเก็บไว้
กานต์ – เล่าได้ครับ เขาก็เจอกันที่กรุงเทพนะครับ พ่อไปเรียนที่โน้น เรียนจบมัธยมที่นี่
แล้วไปเรียนต่อที่โน้นแล้วไปเช่าบ้านของยาย หมายถึงของแม่ของแม่ครับ แล้วก็เลยจีบลูก
สาวเขา แล้วพาแม่มาเที่ยวบ่อย ๆ โครงเรื่องแม่ผมเขียนให้ ผมคล้ายๆ จะจับได้ว่าเป็น
โมเมนท์หนึ่งช่วงใกล้จะแต่งงาน พ่อพาแม่มาเที่ยว แล้วมีความสุขมากๆ อยู่ช่วงหนึ่งเขียนว่า
พาไปนั่นพาไปนี่ คือไม่ได้ไปเล่าเป็นช่วงเวลาที่ชัดเจนมาก แต่มันจะเป็นเหมือนภาพ
ความสุขของเขามั้งครับ
ฟิล์มไวรัส – ครั้งแรกที่คุยกับแม่ว่าจะทำเรื่องนี้ แม่ตอนนั้นภูมิใจนำเสนอ หรือมีลังเล เขินอาย
กานต์ – เขินอายครับ ทุกวันนี้ถ้ามีแซวอะไรเล่น เขาก็จะมีเขิน อ้าว… ทำไมวันนั้นลงไป
พื้นที่แล้วชาวบ้านแถวนั้นเขาบอกว่าออกไปล่องเรือกัน แล้วเขาแอบเห็นนะ แม่ก็
หัวเราะ “ใครมาเห็น” ผมมองว่าไอ้ความคิดถึงพ่อ เขาก็จะคอย มันเป็นธรรมชาติเอง
ที่กินข้าว อยู่ๆ ก็คุยถึงลพบุรีทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ใช่คนลพบุรี พูดถึงพ่อ พูดถึงย่า แล้วผมรู้สึก
ว่าตรงนี้ผม Impact รู้สึกมันโอนถ่ายได้ ความรักของเขานะครับ มันแบบว่ามันยังอยู่เลย
ขนาดมันนานมากแล้ว พ่อตายไปกี่ปีแล้ว
ฟิล์มไวรัส – ตอนนี้แม่อยู่ลพบุรีไหม
กานต์ – ไม่ครับ
ฟิล์มไวรัส – แต่ในบางอารมณ์เขาก็รู้สึกเหมือนว่าตัวเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่
กานต์ – ก็มีจะกลับมาหาย่าบ้าง พาหลานมา ช่วงปิดเทอมก็จะพาน้องสาวก็มาเหมือนกับ
ผมนี่แหละครับ
ฟิล์มไวรัส – เมื่อกี้ที่บอกว่ามีคนแอบเห็นไปล่องเรือ อันนี้เป็นข้อมูลที่ค้นมาทีหลังใช่ไหม
กานต์ – ไม่ถึงกับค้นครับ ก็เป็นญาติๆ นี่แหละ พอรู้ว่าผมถ่ายหนังเป็น ก้อย – วิทย์
(ชื่อจริงของพ่อแม่ที่นำมาใช้ในเรื่อง) อะไรอย่างเนี่ย ก็มีเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย แต่
ปกติผมไม่ได้หาข้อมูลจากคนอื่น ผมเอามาจากแม่เท่านั้น
ฟิล์มไวรัส – บังเอิญได้ยินมา
กานต์ – ก็ป้านู จริงๆ เขาต้องมาเล่นเป็นย่า แกก็เล่าเพิ่มไปอีก ก็มีความน่ารักเข้าไปอีก
คล้ายกับว่าพอเราทำให้มันเกิดขึ้นคนอื่นก็หวนมานึกถึงแล้วก็แชร์ออกมาด้วย ผม
ว่าถ้าผมไม่มีอันนี้ การตายของพ่อก็ต้องลาง ๆ จางไปแล้วล่ะ มันก็คงหายไปเรื่อย ๆ
ตามเวลาของมัน กับเรื่องราวพวกนั้นเลยได้เกิดมาหวนกันอีกสักครั้งหนึ่ง แต่
หนังฉายไปถึงจุดหนึ่งเดี๋ยวมันก็คงกลับไปแบบเดิม หมายถึงว่าเดี๋ยวเวลาของมันก็
หมดไปอยู่ดีครับ แต่นี่มันก็ได้ยื้อมันได้ไว้หน่อยหนึ่ง
ฟิล์มไวรัส – จากหนังสั้นมาหนังยาว ความรู้สึกมันต่อเนื่องหรือไม่ต่างกันมากใช่ไหม
กานต์ – เออ… ผมรู้สึกเหนื่อยกว่า แล้วก็ยากกว่า คล้าย ๆ ว่าหนังสั้นผมยังรวบมันอยู่ในกระบวนการ
คิดได้ง่าย พอหนังยาวมันมีการเดินทางเหมือนว่า ณ ที่ถ่ายมาทั้งหมด พอเริ่มบอกว่าต้อง
ถ่ายมัน ผมก็จะลืมมันไปแล้ว หมายถึงก็ไม่ได้ไปบังคับกับตัวเองว่าจะต้องไปทำมันสักเท่าไร
ก็เชื่อในภาพที่มันเกิดขึ้นในตอนนั้น ตอนที่ภาพมันเกิดขึ้น ทำดูเป็นภาพ ๆ ไปครับ
ฟิล์มไวรัส – กานต์ มีวิธีพูดกับนักแสดงอย่างไร หมายถึงให้เขาอินกับบท
กานต์ – คือผมก็ไม่ได้เรียนฟิล์ม ผมเรียนนิเทศ เรียนออกแบบอะไรอย่างนั้นครับ แต่ก็ใช้
ประสบการณ์จากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของคนอื่นๆ มาบ้าง ก็ได้เห็น เหมือนมันซึมเข้า
ไปเอง ผมรู้สึกว่าผมก็แค่แบของผมออกไป พูดกับพ่อ (ประภาส อำนวย, นักแสดง-ในกอง
ถ่ายทุกคนพร้อมใจเรียกนักแสดงในบทพ่อเช่นนั้น เพราะเขาก็เป็นพ่อของหนึ่งในทีมงานคือ
น้องน้ำหวานด้วย) อาจจะไม่เรียกว่ากำกับอะไร แต่ก็แค่บอกว่า ณ ตอนนี้เราเดินทางมาถึง
ตรงนี้ ผมทำแบบนี้อยู่ เหมือนพ่อเดินมาถึงตรงนี้ พ่อก็เป็นตัวแทนของพ่อผมอะไรแบบนี้ครับ
ฟิล์มไวรัส – ฉากที่พ่อร้องไห้เนี่ย ตอนที่พูดกับพ่อ (ประภาส อำนวย, นักแสดง) ได้คิดไว้ก่อน
หรือเปล่า หรือส่งอารมณ์เฉย ๆ
กานต์ – ไม่ครับ (หัวเราะ) ก็บอกว่า ณ ตอนนี้ผมทำตรงนี้อยู่ เนี่ยหนังเรื่องนี้กำลังจะทำ
แบบนั้นอยู่ โอเคว่าพ่อเขาก็ผ่านกระบวนการของการอ่านบท เขาก็ทำก็ต้องคิด
ของเขามาระดับหนึ่งแหละ
ฟิล์มไวรัส – แต่กานต์บอกพ่อ (ประภาส อำนวย, นักแสดง) ว่าการทำหนังนี้เป็นสิ่งเดียวที่กานต์ทำให้พ่อ
(พ่อตัวจริงของ กานต์ ที่เสียไปแล้ว) ซึ่งสำหรับพ่อของน้ำหวานเองก็รู้สึกด้วยเหมือนกันว่าใน
ส่วนของเขา การบวชคือสิ่งหนึ่งที่เขาทำให้พ่อของตัวเอง ซึ่งทำให้ความรู้สึกร่วมกันได้
กานต์ – เนี่ยผมก็ไม่รู้ ผมไม่ได้คุยกับพ่อน้ำหวาน พ่อไม่ได้มาพูดกับผมอย่างนี้ เท่าที่คุยกันมันไม่ใช่
หมายความว่าพ่อจะต้องทำมันด้วยการเป็นพ่อผม อันนี้คือสิ่งที่ผมเป็นอยู่ตอนนี้ พ่อจะรู้สึก
อะไรต่อจากนั้นก็ทำได้เลย อันนี้ผมก็เพิ่งรู้นะครับ เขาคงแชร์มันออกมาก็เลยทำร่วมกัน
เสียเลย คล้าย ๆ อุ้ม (วัลลภ-รับบทพ่อในวัยหนุ่ม) เหมือนกันนะครับ หลายๆ อย่าง คือว่า
ผมก็พูดโยนออกไป แต่ก็โอเค การเลือกก็เลือก จาก อุ้ม ที่เป็นเด็กนครนายกคนนี้ที่รู้จัก
เพราะทำอาร์ตให้ อุ้มก็เป็นคนที่ใช้ชีวิตมีพื้นฐานการใช้ท้องทุ่งอยู่ประมาณหนึ่ง แล้วเข้ามา
อยู่กรุงเทพ เรียนที่ศิลปากร แล้วด้วยความเป็นเพื่อนก็คุยกันบ่อย แต่พอท้ายที่สุดต้องอยู่ใน
ฐานะนักแสดงแล้ว ผมก็โยนแบบนี้ไปให้เขา เหมือนกับว่าพอเขาเชื่อแล้ว คิดว่าเขาเชื่อ
เหมือนกัน

<
ฟิล์มไวรัส – แล้วกับ ฝน (แสดงเป็นแม่ในวัยสาว) กับคนอื่นๆ ใช้วิธีการเดียวกันไหม
กานต์ – กับฝนอาจจะคุยน้อยนิดหนึ่ง อันนั้นผมไม่แน่ใจว่าเป็นเทคนิคหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกว่า ณ
ตอนนั้นที่แม่เป็นสาวมันยังไม่ใช่ในส่วนที่ผมเข้าใจนัก ผมเข้าใจแม่ตอนพี่ มด (พัสตราภรณ์
จาตุรันต์รัศมี- ภรรยาของ คงเดช ผู้กำกับ “กอด”) หมายถึงตอนมีอายุขึ้นมา อุ้ม กับ ฝนยังมี
การแชร์ภาพของเขา เพราะมีภาพวัยรุ่นความเป็นหนุ่มสาวของพ่อแม่ ผมมีความรู้สึก
ประมาณหนึ่งว่าเป็นอุ้มเป็นฝนได้ และก็เป็นวัยของเขา
ฟิล์มไวรัส – แล้วเวลาที่แม่ดูหนัง คาดหวังว่าอันนี้มันใกล้กับชีวิตจริงของแม่ หรือเป็นสิ่งที่แม่
จะชอบ เวลาทำนี้คิดห่วงอะไรหรือเปล่า
กานต์ – (หัวเราะ) ไม่ห่วงว่าแม่ต้องชอบหรือเปล่า แค่นี้ก็ดีแล้วครับ ต่อให้แม่บอกว่าไม่เหมือนฉัน
เลยก็ตาม ไม่เป็นไรครับ (หัวเราะ) แม่ก็เริ่มมาทำด้วยกันแล้ว ทำให้พ่อครับ
ฟิล์มไวรัส – ฉากหนึ่งที่น่ารักดี ……ฉากที่เป็นคนสูงวัย ที่นุ่งผ้าถุงอาบน้ำด้วยกันที่ริมตลิ่ง เพราะพี่ไม่
คาดว่าจะได้เห็นในหนังไทย ไม่เคยเห็นและไม่คาดว่าจะได้เห็น ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจ
มาก จริงๆ ก็มีหลายฉากที่พี่ชอบ
กานต์ – คือบางอย่าง ณ ตอนที่ถ่ายผมไม่ได้เห็นอะไรมาก แต่พอตัดมันก็เริ่มให้เห็นอะไรบางอย่าง
เหมือนกัน ตอนนั้นเราเชื่อว่าเป็นปู่ย่า แล้วเราก็ทำมัน แล้วพอตอนตัดเราก็ดู เออ… จริงๆ
มันก็หวนๆ แบบไปที่ราก ทุกๆ ส่วน พอทำไปเพราะความรัก ผมเองก็เดินทางไปอยู่ที่
กรุงเทพ ก็เดินห้างกันแล้ว แต่นี่ทำให้เราเห็นว่าอะไรคือความเชื่อเก่า ๆ ความรักใน
คนรุ่นเก่ามันเป็นแบบนี้แหละ
ฟิล์มไวรัส – แต่ด้วยเพราะอย่างนี้ เวลาที่โชว์นักแสดงในวัยอาวุโสมากๆ ที่ให้เวลากับเขาแล้ว เห็นมี
ความสุข ว่ายน้ำสองตายาย นุ่งผ้าถุงอะไรแบบเนี่ย เป็นภาพที่ประหลาดตา น่าจะเป็นครั้ง
แรกของหนังไทยด้วยมั๊ง
กานต์ – หมายถึงในเชิงแบบคนหนังเหี่ยว ถ้าจะพูดแบบนั้นใช่ไหมครับพี่ ที่ปกติเขาจะเลือกความหล่อสวย
ฟิล์มไวรัส – ซึ่งปกติเราจะไม่เห็นเขามามีบทบาทในหนัง ซึ่งพี่ว่าหนังกานต์ เป็นภาพอุดมคติที่สวยงาม
กานต์ – แต่ผมเคยเห็นจริง มันอาจจะจางไป แต่ผมว่าเมื่อก่อนน่าจะมีเยอะอยู่
ฟิล์มไวรัส – พี่หมายถึงในหนังไง แม้กระทั่งหนังของ เชิด ทรงศรี อาจจะเป็นเพราะว่าเงื่อนไขของตลาด
ด้วยส่วนหนึ่ง มันจะไม่มีใครถ่าย จะมีแต่พระเอกนางเอก สรพงศ์ จารุณี เหมือนในความ
คาดหวังของคนดูมันไม่มีด้วย แต่เวลาที่กานต์ทำออกมา เป็นภาพที่ดี
กานต์ – ก็เป็นความโชคดีด้วยแหละครับ ถ้าผมมองเลยไปในเรื่องที่พี่สนพูด มันเป็นความโชคดีที่มี
ผู้อำนวยการสร้างที่เปิดให้อิสระ แกก็ไม่ได้มาบอกว่า เฮ้ย ! ต้องหาคนสวยหล่อ ต้องตัด
อะไรออก เขาก็ไม่ได้พูดนะครับ โอ๊ย ! ก็เป็นความโชคดีนะครับ
ฟิล์มไวรัส – แล้วหนังประกอบด้วย long take ยาวๆ ด้วย ผู้อำนวยการสร้างบางคนคงคิดหนักเหมือนกัน
กานต์ – แกก็คงมีแอบกลัวแล้วแหละ แต่ข้อดีพี่แกมีความชอบหนังแบบนี้ประมาณหนึ่งแล้ว แกไม่ใช่
ว่าจะต้องมาคัตรวดเร็วเพื่อความเพลิดเพลินหรือเอาอะไรใส่คนเยอะๆ แต่ว่าคงมีแอบห่วงๆ
ว่าคนจะเบื่อหรือเปล่า ผมว่าถ้ามันมีความสวยงามที่น่าดูก็ต้องดูมันล่ะครับ (หัวเราะ) แต่
ผมก็ให้ความรู้สึกกับมันทุกภาพนะครับ แต่ก็ต้องมาดูอีกทีเรื่องความยาวอะไร
ฟิล์มไวรัส – แต่ภาพพวกนั้นแหละที่ให้ความสุข ตามความรู้สึกของพี่ถ้าเลือกได้ ยิ่งได้เห็นภาพที่ถ่ายมา
พี่อยากอยู่ในโลกที่เห็นในหนังนั่นแหละ กานต์ ทำได้ดี แล้วพี่จะรอเป็นกำลังใจให้นะ

โปรแกรมภาพยนตร์ Filmvirus ที่หอศิลป์ จามจุรี ในงาน Art Square 8

•ธันวาคม 6, 2010 • ให้ความเห็น

Art Square 8 & Filmvirus

Black & White Like Day and Night

ฉายกลางแปลงที่หอศิลป์จามจุรี (ใกล้มาบุญครอง)- เริ่มเวลา 6 pm

14 ธันวาคม 2553

Avida “โลกอ้วนคนต๊อง” กำกับโดย Gustave de Kervern, Benot Delpine ร่วมแสดงโดยยอดผู้กำกับหนังระทึกจิตชาวฝรั่งเศส Claude Chabrol และผู้กำกับละครเวที (และคนทำหนังหัวหอก) ของกลุ่ม Panic Movement คือ Fernando Arrabal

Haxan “ประวัติศาสตร์แม่มด” กำกับโดย Benjamin Christensen Vampyr “แวมไพร์สยองไม่ต้องใช้เสียง” โดยผู้กำกับระดับตำนาน Carl Dreyer

15 ธันวาคม 2553

College “ทิ้งเรียนไปจับสาวแอโรบิค” หนังตลกนำแสดง – ร่วมกำกับโดย Buster Keaton

Sherlock, Jr. “หนุ่มนักฉายหนังหัวใจเชอร์ล็อค โฮล์มส์” นำแสดงและกำกับโดย Buster Keaton

The Cameraman “กดชัตเตอร์สะกิดรัก” นำแสดง – ร่วมกำกับโดย Buster Keaton

16 ธันวาคม 2553

The Goddess “มารดรกลางวัน โสภากลางคืน” (Shen nu) หนังจีนกำกับโดย Yonggang Wu

Mr.Thank You “รถเมล์หัวใจ” หนังญี่ปุ่นกำกับโดย Hiroshi Shimizu

The Masseurs and a Woman “หมอนวดบอดตรึงใจนาง” หนังญี่ปุ่นกำกับโดย Hiroshi Shimizu

Fred Kelemen 3 Days Masterclass in Bangkok

•ตุลาคม 7, 2010 • 1 ความเห็น

Fred Kelemen 3 Days Masterclass in Bangkok – A Filmvirus Event

คุยกับ เฟรด เคเลเมน ผู้กำกับหนังและตากล้องชาวเยอรมัน ในงานของฟิล์มไวรัส

(วีดีโอโดย ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ) โพสต์ลงยูตูบ โดย จิตร โพธิ์แก้ว

โปรแกรมหนัง งาน เผาฟิล์มไวรัส เผ็ด สวย ดุ ณ เก๋ไก๋

•กันยายน 26, 2010 • ให้ความเห็น

โปรแกรมหนัง งาน เผาฟิล์มไวรัส เผ็ด สวย ดุ ณ เก๋ไก๋ (ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)

หนังสั้น + มิวสิควีดีโอของชาวคณะฟิล์มไวรัสและผองเพื่อน
Don’t Mess with Us: Filmvirus and Friends


ฉายที่ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ ชั้นใต้ดิน U 2 ของ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ (ตึกสีขาวสูงริมน้ำ) – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน
เริ่มงาน 12.30 น.

* * * อย่าจ่ายค่าเข้าห้องสมุด เพียงแจ้งเจ้าหน้าที่หอสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณางดใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น และรองเท้าแตะ เนื่องจากเป็นสถานศึกษาและสถานที่ราชการ * * *

ขอเชิญชมหนังที่ทำโดยสมาชิกกลุ่มฟิล์มไวรัสและคนใกล้ชิด เชิญร่วมทัศนา พูดคุย และวิจารณ์ยำใหญ่ได้แบบไม่ยั้งมือ
ร่วมด้วยคุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จะนำหนังสั้นเรื่องใหม่สดที่ไม่เคยฉายที่ไหนมาก่อนมาเปิดตัวที่นี่ รวมทั้งจะให้เกียรติมาร่วมสนทนาด้วย
(ร่วมวิจารณ์ยำใหญ่ ฟิล์มไวรัส แบบไม่ยั้งมือ โดย กฤติยา กาวีวงศ์ และ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์)

โปรแกรมภาพยนตร์ ตอน 1 (อาจเปลี่ยนแปลงตามจำเป็น)

วันที่ดวงจันทร์เข้ามาใกล้โลกมากที่สุด (The Day the Moon Encounter the Earth’s Orbit) (2010) / วีระพงษ์ วิมุกตะลพ / 9 นาที
VCD คำถาม กำกับและนำแสดงโดย ฌัฏฐ์ธร กังวาลไกล / 15 นาที
‘Wherever You Will Go’ (2009) / คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง / 5 นาที
‘ฯยามวิกาลฯ’ / Nocturnal Happening (2004) / ‘อลงกต’ / 13 นาที (สยองขวัญแนวทดลอง)
ประวัติย่อของบางสิ่งที่ยังไม่จบสิ้น (pulsatile mass) / 2009 / นฆ ปักษนาวิน / 40 นาที

พักแลกเปลี่ยนความเห็น 1
โปรแกรมภาพยนตร์ ตอน 2 (อาจเปลี่ยนแปลงตามจำเป็น)

พายุผีเสื้อ /The Butterfly Effect (2008) วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา / 17 นาที
เพ็ญ /La Lunar (2009) วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา / 8 นาที
Weekend News / 5 นาที / ไกรวุฒิ จุลพงศธร
Tunyares / 12 นาที / ไกรวุฒิ จุลพงศธร
Sorry… / 5 นาที / ไกรวุฒิ จุลพงศธร
‘ชุติมา’ (2007) / รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค / 16 นาที (สร้างจากบทกวีรางวัลซีไรต์ของ มนตรี ศรียงค์)
Ma vie incomplet et inacheveee’ (2007) / รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค / 4 นาที (animation)
รอยยิ้มในคืนที่ 5 (Smiles of the 5th Night) (จากชุดหนังสึนามิ) / 2005 / สนธยา ทรัพย์เย็น / 16 นาที (unreleased version)

พักแลกเปลี่ยนความเห็น 2
โปรแกรมภาพยนตร์ ตอน 3 (อาจเปลี่ยนแปลงตามจำเป็น)

I’m Nobody, Who are You? (1987) / สมเกียรติ์ วิทุรานิช / 15 นาที
‘ขุนนางป่า’ กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
‘บ้านของพรุ่งนี้’ กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
‘ไม้เหลือง’ กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
‘คนฉายหนัง’ กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
‘ดำกับแดง’ กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
MV ลูกตะกั่ว 3 ลูกในหัวลูกหมู / ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ / 6 นาที
พิภพบรรฑูรย์ / 25 นาที / อุทิศ เหมะมูล
MV สว่างไป สว่างมา (improvised version) ของวง Vinegar Syndrome / สนธยา ทรัพย์เย็น /
8 นาที

นารีนิยาม – bookvirus ฟุ้ง 07 (เรื่องสั้นแปลนานาชาติ)

•กรกฎาคม 23, 2010 • ให้ความเห็น

นารีนิยาม – bookvirus ฟุ้ง 07

update 23 กรกฏาคม 2553

4 + 1 = 5 เรื่อง (เพิ่มเรื่องสั้นของ มาร์การ์เร็ต แอ็ตวูด จากแคนาดา แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง)

เบิกม่านเรื่องสั้นหญิงเกินนิยาม ต่อเนื่องจากเล่ม bookvirus ฟุ้ง 06 ก่อนหน้า – นางเพลิง

5 เรื่องของนักเขียนตัวจริงที่อยากให้คุณรู้จัก

5 เรื่องจาก ญี่ปุ่น, อิหร่าน, บราซิล, อเมริกา และแคนาดา

1. จบให้สนุก ของ มาร์การ์เร็ต แอ็ตวูด จากแคนาดา แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
2. นักว่ายน้ำ มิแรนดา จูลาย (แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร)
3. เกมที่ค้างคา โกลี ทารากี (แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง)
4. ม้าน้ำ ฮิโรมิ คาวาคามิ (แปลโดย มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์ )
5. ลอกลายกุหลาบ แคลริซ ลิสเปคเตอร์ (แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์)

* * พิมพ์จำนวนจำกัด เริ่มวางขายแล้ววันที่ 19 กรกฏาคม – นารีนิยาม วางจำหน่ายเฉพาะที่ร้าน คิโนะคุนิยะ ห้างพารากอน และอิเซตัน (ราชประสงค์) และศูนย์หนังสือจุฬา ทุกสาขา* * *

ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ: ตำรับชีวิตสามัญโกอินเตอร์ (Filmvirus Collection)

•กรกฎาคม 23, 2010 • ให้ความเห็น

ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ: ตำรับชีวิตสามัญโกอินเตอร์
Filmvirus Collection

จัดทำโดย สนธยา ทรัพย์เย็น, ทีฆะเดช วัชรธานินท์, กัลปพฤกษ,์ ณัฐธรณ์ กังวานไกล และ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

This slideshow requires JavaScript.

รวมบทสัมภาษณ์คนทำหนังอิสระไทย 11 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ ชัยชนะเล็ก ๆ ของคนทำหนังไทยนอกระบบสตูดิโอ ร่วมด้วยบทความแนะนำการติดต่อแหล่งทุนจากต่างประเทศ ลักษณะเฉพาะของแหล่งทุนแต่ละแห่ง พร้อมแนะนำตัวอย่างหนังนานาชาติที่ได้รับทุน

ทุนข้ามชาติ = โครงการภาพยนตร์ที่คนไทยเองมองไม่เห็นคุณค่า หรือความคุ้มค่าในการลงทุน
ทุนข้ามชาติ = ทางเลือกของคนทำหนังไทยที่ไม่อยากถูกจำกัดด้วยระบบธุรกิจ

โอกาสของนักทำหนังที่มุ่งมั่นจะบอกเล่าในสิ่งที่ตนเองเชื่อ
พร้อมกับยังหลงเหลือศักดิ์ศรีของตัวเอง ไม่ต้องง้อให้ ฝรั่งเหลียวมอง
ด้วยการไล่แจกของชำร่วย จำพวก นกยักษ์ และภัยอสูร
หรือห่มห่อเปลือกไทยด้วยช้าง ชุดแต่งกายประจำชาติ แหล่งท่องเที่ยว และหมัดมวยหัวไม้

หนังดีต้องมีทุนสร้างก้อนโต – ข้ออ้างนี้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์เสียแล้วในยุคดิจิตอล
หนังส่งประกวดไม่ได้มีเพียงการแช่ภาพอืดชืด ใส่สัญลักษณ์กำกวม
หรือซื้อใจคนดูด้วยเซ็กส์

การรีเมคหรือทำหนังแอ็คชั่นพูดอังกฤษ หาใช่หนทางเดียวที่เราควรเจริญรอยตาม
คนทำหนังจีนเกาหลี ญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับ รางวัลออสการ์ ซึ่งไม่อาจเป็นยันต์ประกันคุณภาพหนังได้เสมอไป

การกระตุ้นต่อมอารมณ์ไม่ควรเป็นคำตอบสุดท้าย
เพราะบางครั้งชีวิตคนธรรมดาเดินดินที่ไม่ต้องปรุงแต่งมากมาย
ก็สามารถชนะใจคอหนังสากล (และทำกำไร) ได้ยืนนานกว่า

ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ: ตำรับชีวิตสามัญโกอินเตอร์

•เมษายน 4, 2010 • 2 ความเห็น

ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ  Filmvirus Collection

จัดทำโดย สนธยา ทรัพย์เย็น, ทีฆะเดช วัชรธานินท,์ กัลปพฤกษ์, ณัฐธรณ์ กังวานไกล และ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

รวมบทสัมภาษณ์คนทำหนังอิสระไทย 11 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ ชัยชนะเล็ก ๆ ของคนทำหนังไทยนอกระบบสตูดิโอ ร่วมด้วยบทความแนะนำการติดต่อแหล่งทุนจากต่างประเทศ ลักษณะเฉพาะของแหล่งทุนแต่ละแห่ง พร้อมแนะนำตัวอย่างหนังนานาชาติที่ได้รับทุน ‘ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ’ เล่มนี้ แม้จะเป็นเกี่ยวกับคนทำหนังไทยล้วน ๆ แต่ก็น่าจะเหมาะอ่านเสริมกับ “ฟิล์มไวรัส เล่ม 5 – ฉบับ ปฏิบัติการหนังทุนน้อย” ซึ่งเป็นเรื่องของคนทำหนังอินดี้ชาวต่างชาติได้พอเหมาะ (และแม้ไม่มี FILMVIRUS ออกมาอีกก็พอเรียกได้ว่าจบสวย) เพราะ ‘ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ’ เล่มนี้นั้นแตกต่างจาก ฟิล์มไวรัส เล่มก่อน ๆ ทั้งหมด ตรงที่ไม่ได้เจาะจงพูดถึงหนังเฉพาะในแง่สุนทรียศาสตร์เช่นดั่งเคย แต่กลับเปลี่ยนมาพูดถึงหนังในมุมของธุรกิจการลงทุนบ้าง ด้วยคาดการณ์ว่าเรื่องราวของตัวเลขอาจจะสื่อความกับชนหมู่มากได้ชัดเจนกว่า

เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ bookvirus ฟุ้ง 06

•มีนาคม 29, 2010 • ให้ความเห็น

เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ ฉบับครบรอบ 100 ปี

bookvirus ฟุ้ง 06

แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง

เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ